เส้นทางสู่นักจิตวิทยาบำบัด บทสัมภาษณ์ครูพี่ต้น
- ครูพี่ต้น
- Nov 29, 2017
- 2 min read
เส้นทางสู่…....นักจิตวิทยาบำบัด

1. รบกวนช่วยแนะนำตัวค่ะ
พี่ต้นครับ เป็นนักบำบัดจิตใต้สำนึก จริงๆแล้วมันยังไม่มีคำเรียกที่รวบง่ายชัดเจนกับสิ่งที่เราทำครับ เพราะเราทั้งเป็นโค้ชชีวิต บำบัดสุขภาพองค์รวม ให้คำปรึกษา เป็นเรกิมาสเตอร์ทีชเชอร์ ทั้งยังเป็นโปรเจ็คมาเนเจอร์ด้วย บางคนเรียกโค้ช คนที่เรียนกับผมบางคนก็เรียกครู บางคนเรียกอาจารย์ ดังนั้นผมเลยเรียกตัวเองง่ายๆว่าเป็นนักบำบัดไปก่อนก็แล้วกัน (หัวเราะ) จริงๆการที่ยังไม่มีคำเรียกที่ชัดเจนบางครั้งมันก็เป็นสิ่งที่ดีนะครับ เพราะมันทำให้เราได้คุยกันมากขึ้น ได้อธิบายเพิ่มขึ้น ได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำครับ จริงๆแล้วการผสมผสานทั้งหมดที่เรารู้และดูแลคนที่เข้ามาให้เราดูแลนั่นแหล่ะครับคือสิ่งที่ผมทำ และหลังจากที่ผมทำสิ่งทั้งหมดเหล่านั้นแล้วนั่นแหล่ะครับคือสิ่งที่ผมเป็น
2. นักจิตวิทยาคือ? / นักจิตวิทยา เหมือนจิตแพทย์หรือไม่คะ?
ไม่เหมือนกันครับ จิตแพทย์ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์ ต้องคนที่เรียนมาโดยตรงและสอบใบประกอบฯได้ถึงจะได้เป็นจิตแพทย์ มุ่งเน้นให้การรักษากับผู้ป่วยโดยใช้ทั้งวิธีการและกระบวนการทางจิตวิทยา ระบบฮอร์โมนเคมีในร่างกาย ระบบประสาทที่เกี่ยวข้อง ใช้ยาช่วยในการรักษา แต่นักจิตวิทยาใครๆก็เป็นได้ มันคือการประยุกต์เอาความรู้ทางจิตวิทยามาเรียนรู้มาใช้กับแนวความคิด มาปรับใช้กับการรับมือกับบางสิ่งบางอย่างหรือแม้กระทั่งกับบางคนโดยทั้งมุ่งและไม่มุ่งเน้นในการรักษาผู้ป่วย แต่ยังใช้ได้กับทุกผู้คน คนปกติธรรมดาที่ไม่ได้ถูกวินิจฉัยว่ามีอาการของการเป็นผู้ป่วย ใครๆก็มีจิตใจใช่มั้ยครับ (ยิ้ม) จริงๆเค้าก็มีคำจำกัดความของทั้งสองสิ่งนี้อยู่แล้วครับ ผมเองก็ไม่ใช่คนทำที่ทำทั้งสองอาชีพนี้โดยตรง แค่คาบเกี่ยวหน่อยๆ (หัวเราะ)
3. และมีหน้าที่ทำอะไรบ้างคะ ลักษณะงาน......
หน้าที่ของทั้งสองอาชีพนี้อาจจะต้องให้คนที่ทำทั้งสองอาชีพนี้อธิบายครับ (หัวเราะ) จิตแพทย์คงชัดเจนมากอยู่แล้ว แต่นักจิตวิทยานี้มีการประยุกต์ใช้กว้างขวางมาก มันครอบคลุมไปหลายแกนของชีิวิตไปจนถึงเรื่องการตลาดด้วยซ้ำ อย่างเช่น Fear Management นี่เค้าก็เอามาใช้กับรายการทีวีรอบดึกครับ รายการที่สร้างความกลัวให้กับเราไม่ว่าจะในมุมไหนก็ตาม กลัวผี กลัวภัย กลัวความไม่มั่งคง กลัวความสัมพันธ์ที่เลวร้าย กลัวภัยสังคมที่อยู่ใกล้ตัว ความกลัวเหล่านี้เมื่อเราดูไปเรื่อยๆมันจะเหนี่ยวนำความกลัวภายในของเราขึ้นมาและสร้างความเครียดขึ้นมาสดๆเลย ร่างกายเราจะปล่อยคอร์ทิซอลออกมา ผนังหลอดเลือดด้านในของเราจะขยายตัวขึ้นทำให้ท่อหลอดเลือดมันแคบลง เลือดก็เดินทางลำบากเดินทางได้น้อยลง หัวใจก็เลยต้องเต้นเร็วขึ้นแรงขึ้นเพื่อให้เลือดเดินทางได้เท่าเดิม เราจะอึดอัดกระสับกระส่าย ลักษณะไม่สบายกายไม่สบายใจ พอถึงช่วงพักเบรกเค้าก็จะปล่อยโฆษณาที่มันสบายใจน่าลุ่มหลงออกมา รถสวยๆที่อยู่ที่พักสวยๆที่ผ่อนคลายสบายใจ อาหารหรือบริการที่หรูหราผ่อนคลายสบายใจ ระบบจะถูกเบรกคอร์ทิซอลจะหยุดปล่อยเข้ามาในระบบ ฮอร์โมนชนิดอื่นจะถูกปล่อยเข้ามาแทน ถ้าโฆษณาเป็นที่พักสวยๆเน้นความสัมพันธ์และความรักหรืออะไรที่น่าซาบซึ้งใจ ร่างกายเราก็จะปล่อยอ๊อกซิโทซินออกมา เราจะรู้สึกซาบซึ้งตี้นตัน ระบบภายในกายก็จะผ่อนคลาย มันช่วยปลดปล่อยความเครียดสะสมจากสภาวะเมื่อครู่ที่ถูกช๊อคระบบ แล้วสิ่งที่โฆษณาอยู่นั้นมันก็จะเริ่มมีความหมายกับเรา เพราะเหมือนว่ามันเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยเรา มันเป็นการสะกดจิตในตัวครับ เราทุกคนอยู่ในโลกที่ถูกสะกดจิตอยู่ตลอดเวลา บางครั้งเราก็สะกดจิตกันเองด้วยซ้ำ เช่นต้องทำให้มันดีนะ ต้องทำให้มันถูกนะ ต้องทำแบบนี้สิ ต้องคิดแบบนี้ ต้องตอบแบบนี้ ต้องเป็นแบบนี้ บางครั้งเราจึงรู้สึกขัดแย้งว่าเราทำสิ่งที่ถูกต้องแต่ทำไมจึงไม่มีความสุข เราใช้ชีวิตบนมาตรฐานของคนอื่น เราไม่เป็นตัวของตัวเอง หน้าที่ที่นักบำบัดอย่างที่ผมทำคือมาทำให้เราตระหนักรู้มากขึ้น ตื่นขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้น เข้าใจต้นตอที่มาของความรู้สึกภายใน เป็นตัวของตัวเองจริงๆ รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงจุดไหน มีมาตรฐานหรือจุดยืนของตัวเราเอง พัฒนาตัวเองจากมุมมองของตัวเราเองโดยไม่ต้องไปขึ้นอยู่กับใคร ไม่ต้องไปแขวนความสุขของตัวเองเอาไว้กับใคร ตื่นขึ้นมาจากการถูกโลกสะกดจิตหรือแม้แต่การสะกดจิตจากตัวเราเอง จากสถานการณ์บางอย่างที่เราตีความให้ความหมายกับมันด้วยความไม่ตั้งใจ เมื่อเราเข้าไปเข้าใจกลไกของตัวเราเอง เข้าใจตัวเองมากขึ้น เราจะเข้าใจสถานการณ์และผู้อื่นได้มากขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้นและอยู่ในโลกได้อย่างที่สามารถดูแลตัวเองได้ รับมือกับโลกด้วยวิธีการของเราได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาวิธีการรับมือกับโลกจากใครครับ
4. เส้นทางสู่...นักจิตวิทยา/สาเหตุที่เข้ามาสู่การเป็นนักจิตวิทยา
แต่ละคนคงไม่เหมือนกันครับ ถ้าเป็นเรื่องของผมมันก็จะยาวหน่อยๆ (หัวเราะ) ขอเล่าสั้นๆก็แล้วกันครับ ของผมเองเป็นเพราะเราเผชิญเรื่องที่มันหนักกับจิตใจ คำถามที่ยากจะหลีกเลี่ยงอีกต่อไปและต้องค้นหาคำตอบและต้องตอบมันให้ได้เท่านั้น ช่วงนั้นเราจิตตกมาก เปลี่ยนสภาพตัวเองเป็นเครื่องกำเนิดพลังงานลบ เปล่งรังสีพลังงานลบไปรอบตัวจนคนรอบข้างไม่กล้าเข้าใกล้ ช่วงนั้นหัวหน้าไล่กลับไป work from home ครับ "อย่าเอา energy แบบนี้มาติดน้องผม" เป็นคำที่จำได้ขึ้นใจทีเดียว เราใช้เวลาช่วงนั้นค้นหาคำตอบให้ตัวเอง ทำให้ได้รู้จักแอนโทนี่ร๊อบบินส์ ทีฮาล์ฟเอเคอร์ ได้อ่านบทความและหนังสือที่เกี่ยวกับจิตวิทยาหลายเรื่องหลายเล่ม ได้ดูหลายๆ video จาก TED ที่มันสะท้อนมุมมองทางจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ ได้รู้จักศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้องกันกับเรื่องของการบำบัดสุขภาพทั้งกายและใจ ได้เริ่มรู้จักและเดินเข้ามาในโลกของเรื่องจิตวิทยาและจากนั้นก็เริ่มมีคนก้าวเข้ามาครับ คนแรกเป็นน้องที่รู้จักกันนานมากแล้ว เธอไปเข้าคอร์สกับอาจารย์ท่านนึงมาซึ่งพอออกจากห้องเรียนจบคอร์สค่ำนั้นเธอโทรหาผมทั้งๆที่เราไม่ได้คุยกันนานแล้ว เธอบอกว่าพี่ต้นต้องรู้เรื่องนี้เดี๋ยวนี้ ค่ำนั้นเธอมาทรานซ์ให้ผมหลุดไปหนึ่งปมทั้งๆที่เธอไม่เคยทรานซ์ให้ใครมาก่อน (และเธอก็ไม่เคยทำให้ใครอีกเลย) ทำให้ผมได้รู้ว่ามันมีเรื่องแบบนี้อยู่ จากนั้นคนที่สองที่เข้ามาคือเพื่อนสนิทที่รู้จักกันมายี่สิบกว่าปีแล้วซึ่งต้องขอบคุณเธอมากๆเพราะเธอชวนไปเข้าคอร์สของอาจารย์ท่านนึงซึ่งมันทำให้เราได้รับประสบการณ์ทางจิตที่แปลกและเปิดโลกเปิดแนวความคิด และยังทำให้เราตอบคำถามคาใจของตัวเองได้ (แถมเธอยังชวนไปเรียนเป็นนักบำบัดจิตใต้สำนึกอย่างจริงๆจังๆด้วย) สิ่งเหล่านี้ที่รวมๆกันแล้วทำให้เรากลับขึ้นมาได้จากสภาวะจิตตกและรู้สึกว่า เฮ้... เมื่อกี๊นี้มันอะไร? เราตกลงไปในหลุมแห่งความรู้สึกอะไรนานเป็นเดือนๆแบบนั้นได้ยังไง? มันทำให้เรารู้สึกว่ามันเสียเวลาของชีวิตไป แต่เมื่อเราขึ้นมาจากหลุมนี้ได้ เราก็น่าจะช่วยคนที่อยู่ในหลุมนี้หรือกำลังจะเดินตกหลุมนี้ได้ สิ่งที่เราประสบมาและความรู้ที่เราสะสมมามันน่าจะมีประโยชน์และช่วยเหลือผู้คนได้ จากนั้นจึงศึกษาเรื่องนี้มากขึ้นครับและเข้ามาอยู่ในทางเส้นนี้
5. ทำแล้วได้อะไรคะ
ได้ช่วยเหลือตัวเองก่อนครับ (หัวเราะ) สิ่งนี้ไม่ผิดนะครับ ในลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์พูดถึงสิ่งนี้ไว้ในชั้นบนสุด self actualization (ความสมบูรณ์ของชีวิต) มันเป็นหนึ่งในความต้องการพื้นฐานของชีวิตครับ ดีมั้ยครับที่ความต้องการส่วนตัวของเรามันช่วยเหลือคนอื่นได้ (ยิ้ม) แล้วมันยังเป็นแรงผลักดันให้เรารู้สึกดีกลับมามากพอจนอยากทำมันอีกครั้งต่อไปเรื่อยๆ ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์จะเริ่มจากทำเพื่อตัวเองก่อนแล้วถึงจะขยายออกไปสู่ผู้อื่น แต่ในชั้นบนสุดของการทำเพื่อตัวเองก็คือการทำเพื่อคนอื่นอยู่แล้ว เรื่องมันเจ๋งตรงนี้แหล่ะครับ (หัวเราะ) เราทำเพื่อตัวเองจนรู้สึกดีกับผู้อื่น เราทำเพื่อผู้อื่นจนรู้สึกดีกับตัวเอง ผลของมันเติมเต็มความรู้สึกของเราครับ มันตอบสนองไปถึงระดับจิตวิญญานด้วยซ้ำ เรื่องอื่นๆที่จะได้ตามมาก็กลายเป็นเรื่องรองไปเลย แต่เรื่องที่ได้ตามมาก็ดีนะครับ (หัวเราะ)
6. มีคนบอกว่าเรียนจิตวิทยาจะเป็นโรคจิตจริงเหรอคะ
(หัวเราะ) ไม่จริงครับ มันก็เหมือนกับที่มีคนบอกว่านั่งสมาธิมากๆระวังจะเป็นบ้านั่นแหล่ะครับ จริงๆแล้วต้องลองดูเพิ่มอีกนิดครับว่าคนที่บอกว่านั่งสมาธิแล้วจะบ้านั้นนั่งสมาธิเป็นรึเปล่า รึว่านั่งสมาธิบ้างรึเปล่า มีน้อยคนมากๆนะครับที่เลือกเรียนจิตวิทยา ลองถามคนรอบตัวเราดูสิครับว่ามีใครเรียนจิตวิทยาบ้าง? ถ้าถามว่ามีใครเรียนบัญชีหรือเรียนวิศวะมาบ้างนี่น่าจะมีเยอะครับ ถ้าคนเหล่านั้นบอกว่าเรียนบัญชีเรียนวิศวะแล้วจะเป็นโรคจิตน่าจะพอเชื่อได้ ในเมื่อคนที่เรียนจิตวิทยามีน้อยมากๆแล้วความเข้าใจของเราที่มีเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็น้อยตามไปด้วยครับ
7. เคยเจอ Case study ที่ยากๆ บ้างไหมคะ แล้วพี่ต้นให้การช่วยเหลืออย่างไรคะ
ตอนที่ทำช่วงแรกๆใหม่ๆมีเยอะครับ ครั้งแรกๆที่เจอนี่ถึงกับอึ้งไปเลย (หัวเราะ) มันยากชนิดที่ทำให้เราคิดในใจว่า อ้าว...เอาไงดีละเนี่ย ทำไงดี... เราไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อไปครับ แต่สิ่งที่ครูบาอาจารย์สอนเอาไว้มันได้ผลจริงๆครับ นั่นคือการโฟกัสอยู่กับคนที่เราช่วย 100% มันทำให้เรารับรู้ถึงความรู้สึกภายในของเค้าได้ มันทำให้ทางออกมันเสนอตัวออกมาเองครับ วิธีการ คำพูด มายด์เซ็ททั้งหลายที่เป็นของเค้าคนนั้นโดยเฉพาะมันจะออกมาเอง ครั้งแรกๆนี่ถึงขนาดสงสัยว่าแบบนี้ก็ได้เหรอ (หัวเราะ) แต่เคสแบบนี้เป็นเคสที่มีคุณค่ามากนะครับ เพราะมันเป็นการพาเราออกนอกกรอบเดิมๆที่เราเคยทำ มันพาเราไปสู่หนทางใหม่ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ สอนเราให้รู้จักว่ามีเคสแบบนี้กรณีอย่างนี้อยู่ และนี่เป็นวิธีการที่ช่วยเค้าได้ นอกจากนี้เราก็ต้องหมั่นอัพเดทกรณีศึกษา แนวความคิด ไอเดีย มายด์เซ็ทจากสิ่งรอบข้างต่างๆอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกันครับ ผมจะมีสมุดพ๊อกเก็ตบุ๊คเอาไว้จดมายด์เซ็ทพวกนี้ติดตัวเอาไว้เสมอ เพราะบางครั้งเราก็จะเจอมายด์เซ็ทที่มีค่าเหล่านี้จากสถานการณ์หรือจากหนัง จากซีรีย์ หรือการ์ตูนโดยไม่คาดฝันก็มีครับ อย่างผมนี่เจอบ่อยๆในการ์ตูนและซีรีย์ (หัวเราะ) หลังๆนี่ถ้าจะดูต้องเตรียมกระดาษปากกาไว้ข้างตัวกันเลยทีเดียว (หัวเราะ)
8. มุมมองของนักจิตวิทยา ที่มองเห็นการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันมองเห็นอะไรบ้างคะ แล้วมีแนวทางแก้ไขอย่างไรคะ
จริงๆไม่ใช่แค่นักจิตวิทยาเท่านั้นหรอกครับที่มองออก พวกเราเองก็มองออกด้วยเช่นกันครับเพียงแต่ไม่นึกว่ามันเกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยาซึ่งเราเองที่คลุกคลีอยู่กับมันจนมันกลายเป็นเรื่องธรรมดาของเราของโลกไป จริงๆแล้วมีอยู่หลายเรื่องมาก แต่ว่าทุกเรื่องที่เราเห็นมันเป็นเพียงผลใบก้านหรือกิ่งที่แตกออกมาจากลำต้นเดียวกันก็คือเรื่องของการใส่ใจความรู้สึกของคนรอบข้างครับ เพราะการที่เราไม่ใส่ใจทำเราสื่อสารไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะการสื่อสารที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ทำให้เค้าเข้าใจผิด เพราะเค้าเข้าใจผิดเลยสร้างบทสรุปเอาเองแบบผิดๆ เพราะบทสรุปแบบผิดๆที่เค้ามีต่อเรานี่แหล่ะครับที่ย้อนกลับมาทำร้ายเราเพราะเราไม่ใส่ใจตั้งแต่ครั้งแรกที่มีโอกาส เรื่องนี้ปรากฏอยู่ทั่วไปทั้งในสถานการณ์ของเรื่องงาน เรื่องเพื่อน เรื่องที่บ้าน หรือแม้แต่กับสัตว์เลี้ยงก็ตามครับ ทางแก้ไขก็เพียงแค่ใส่ใจความรู้สึกของคนรอบข้างให้มากขึ้นและสื่อสารให้ดีพอที่เค้าจะไม่สร้างบทสรุปที่ผิดๆเอาเองก็เพียงพอแล้วครับ (ยิ้ม) ส่วนรากของมันเราอาจจะต้องพึ่งนักบำบัดให้ช่วยขุดค้นและเยียวยาต่อไปเมื่อเราเห็นว่าจำเป็นและถึงเวลาแล้ว
9. สุดท้ายนี้รบกวนพี่ต้นช่วยฝากถึงผู้อ่านที่กำลังอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่เข้าข่ายต้องเข้ารับการปรึกษา ควรทำอย่างไรบ้างคะ มันไม่มีใครที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงนะครับ เพราะถ้ามี ทุกคนก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงครับ เพราะทุกคนมีจิตใจจิตวิญญาน มันก็เหมือนร่างกายนี้แหล่ะครับ เรารับประทานเข้าไปพอถึงช่วงเวลาหนึ่งของที่เคยดีก็กลายเป็นของเสียออกมา อันนี้เรามองเห็นมันอยู่มันเป็นรูปธรรมจับต้องง่ายเราเลยได้ดูแลมันอยู่ทุกวัน แต่ในเรื่องของความรู้สึกจิตใจพอเราสะสมของเสียบ่อยๆเข้าเราได้ขับถ่ายความรู้สึกพวกนี้ออกมาบ้างรึเปล่าครับ? ที่ต้องถามคือเราขับมันออกมาเป็นรึเปล่าครับ เมื่อไม่ได้ขับมันออกมาบ้างสิ่งเหล่านี้อาจปรากฏออกมาในรูปของความรู้สึกทางด้านลบครับ การไม่รู้สึกถึงความสุข ความสับสนในชีวิต กังวลและกังขากับสิ่งที่กำลังทำอยู่ การไม่เข้าใจตนเอง การขัดแย้งกับผู้อื่น หลีกหนีไม่ต้องการสังคม ความรู้สึกโหยหาที่ไม่จบสิ้น ความรู้สึกขาดแคลนที่ไม่เคยเต็ม ความรู้สึกว่าไม่ถูกต้องและรู้สึกผิด การตำหนิและกล่าวโทษตัวเอง ความโกรธที่ซุกซ่อนและยังคุกรุ่นอยู่ข้างในลึกๆ ความขุ่นเคืองที่ฟุ้งอยู่เสมอและไม่เคยตกตะกอน การทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องทำ การพบเจอกับเหตุการณ์รูปแบบเดิมๆและลงเอยแบบเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความเจ็บป่วยทางสุขภาพกายที่เรื้อรังและหาสาเหตุไม่ได้ การตัดสินใจที่ส่งผลไปด้านลบกับชีวิตเสมอๆ และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เรารู้สึกขัดแย้งอยู่ภายในใจ สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของการส่งผลจากจิตใต้สำนึกทางด้านลบซึ่งล้วนถูกสร้างมาจากตัวเราเองที่ทำการสรุปความจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกและจิตใจของเราในอดีต หากเรารู้ตัวว่าเรามีสิ่งเหล่านี้อยู่และมันเป็นอุปสรรคในชีวิตของเรา เราจะทำยังไงครับ? ดังนั้นผมถึงบอกว่ามันไม่มีใครที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงเลยเพราะทุกคนอยู่ในนั้นอยู่แล้ว และเมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วเราควรปลอบโยนความรู้สึกของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรกแล้วจากนั้นจึงควรใส่ใจกับความรู้สึกของตัวเอง หัดรับมือกับความรู้สึกที่รับมือได้ยาก อย่าเอาแต่หนีมันด้วยการไปรู้สึกอย่างอื่นแทนเพราะนั่นคือการพ่ายแพ้ หากการทำสิ่งนี้ยังยากสำหรับเราอยู่ นักบำบัดช่วยได้ครับไม่จำเป็นต้องเป็นผมเพราะคนที่มาทำตรงนี้ปรารถนาดีต่อผู้อื่นอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นผมจะดีมากครับ (หัวเราะ)
Comments